“นิ้วล็อค“ เป็นภาษาที่เรียกกันง่ายๆ ตามอาการที่เป็น คือมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ สามารถงอนิ้วได้แต่เวลาเหยียดนิ้วใดนิ้วหนึ่งหรือหลายนิ้วเหยียดไม่ออกเหมือนโดนล็อคไว้ เกิดจากการอักเสบและหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้วซึ่งอยู่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นด้วยความลำบาก มีการเสียดสีทำให้เกิดอาการปวด หรือติดล็อคได้ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุที่พบบ่อย 40 – 50 ปี มักเกิดกับผู้ที่ใช้ งานมือในลักษณะเกร็งนิ้วบ่อยๆ เช่น งานบ้าน การหิ้วหรือยกของหนัก การใช้กรรไกรเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น

อาการของ นิ้วล็อค (Trigger finger)
- มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว
- กำและเหยียดนิ้วไม่สะดวก
- นิ้วติดหรือล็อคเมื่องอนิ้ว
- รู้สึดขัดๆที่โคนนิ้ว
- มีอาการเจ็บนิ้วเมื่อกำมือ
- อาการจะเป็นมากเมื่อตื่นนอนตอนเช้า
- อาจคลำเจอก้อนบริเวณโคนนิ้ว
- เมื่อกดบริเวณโคนนิ้วตรงปุ่มกระดูกจะปวดมากบริเวณที่กด
- เมื่อกำมือ งอนิ้วมือเข้ามาแล้ว จะเหยียดนิ้วคืนออกไม่สะดวก เหมือนกับนิ้วล็อคติดอยู่

อาการของโรคแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
1. ระยะแรก มีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือด้านฝ่ามือ แต่ยังไม่มีอาการสะดุดหรือติดล็อค
2. ระยะที่สอง มีอาการปวดที่เพิ่มขึ้นและสะดุดเวลาขยับ
3. ระยะที่สาม มีอาการติดล็อคเมื่องอนิ้ว ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียดออก
4. ระยะที่สี่ มีอาการอักเสบรุนแรงมากขึ้น บวมติดอยู่ในท่างอเล็กน้อย ไม่สามารถเหยียดได้ตรง ถ้าฝืนเหยียดจะปวดมาก
สาเหตุของ นิ้วล็อค (trigger finger)
- การใช้งานของนิ้วมือมากๆและนานๆ ในท่ากำมือหรืองอนิ้วมือ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาชีพและการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ พบบ่อยในกลุ่มแม่บ้าน แม่ครัว ช่างตัดเย็บผ้า ช่างทำผม ช่างซ่อม พนักงานบัญชี
- เป็นมาแต่กำเนิด
- ภาวะที่มีการหนาตัวขึ้นของเยื่อหุ้มเส้นเอ็น เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

การรักษาทางกายภาพบำบัด
- ลดปวด ลดอักเสบ โดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น อัลตร้าซาวด์ , ประคบร้อน , ประคบเย็น , Shock wave
- บริหารร่างกาย โดยกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อและออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- ปรับเปลี่ยนท่าทางการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
Shock wave therapy เป็นการส่งผ่านคลื่นกระแทกเข้าไปในบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บใหม่ (Re-Injuries) ในบริเวณกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่มีปัญหา จากนั้นร่างกายจะเกิดกระบวนการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อใหม่(Re-Healing) จะช่วยลดปวดได้ โดยการลดปริมาณสารสื่อประสาทที่ส่งสัญญาณปวดและกระตุ้นให้หลั่งสารลดปวดออกมา
