ภาวะสุขภาพดีสร้างได้จากการดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนทราบกันดี ซึ่งเห็นได้จากภาพในปัจจุบันที่หลายๆคนให้เวลากับการออกกำลังกายหรือใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็ยังคงมากอยู่ทุกวันไม่ว่าอายุน้อยหรืออายุมาก สะท้อนให้เห็นว่าขนาดคนยุคใหม่ใส่ใจต่อสุขภาพมากแล้ว ก็ไม่สามารถหนีพ้นการเจ็บป่วยไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ทั้งโรคเฉียบพลัน เรื้อรัง หรือที่มาแบบแฝงเป็นภัยเงียบก็ตาม

อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นกลุ่มอาการหนึ่ง ซึ่งเป็นทีรู้จักกันโดยทั่วไป แต่หลายๆคนอาจยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่มาของกลุ่มอาการนี้ โดยมีสาเหตุที่เป็นได้ทั้งภาวะเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโรคหรืออาการที่มีสาเหตุเป็นภัยเงียบและส่งผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อาจมีที่มาจากโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาควบคุม อีกทั้งยังเกิดได้จากอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อตัวสั่งการร่างกายอย่างสมองหรือระบบการทำงานของสมองให้ได้รับการบาดเจ็บ เพื่อป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต เราควรหันมาเอาใจใส่ต่อสุขภาพให้ดีที่สุดและมาทำความรู้จักกับโรคและสาเหตุของกลุ่มอาการนี้ให้มากขึ้น

โรคและสาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการ อัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง
- หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการสะสมของลิ่มเลือดภายในสมองหรือส่วนอื่นของร่างกายหรือไขมันไปสะสมบริเวณผนังหลอดเลือดจนหลอดเลือดเกิดการตีบแคบ ทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงและเกิดความเสียหายต่อสมองบริเวณนั้น
- หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดมีปัจจัยให้เกิดภาวะเปราะหรือบาง และร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูงอาจส่งผลให้เกิดการโป่งพองและแตกของหลอดเลือดได้ หากเกิดการแตกของหลอดเลือดจะทำให้มีเลือดออกมากดเบียดเนื้อสมอง ส่งผลให้สมองส่วนนั้นได้รับความเสียหาย โดยการแตกของหลอดเลือดเกิดเป็นภาวะเฉียบพลันและอันตรายกว่าการตีบของหลอดเลือดสมอง
- โรคที่เกิดจากการบาดเจ็บของสมอง อาจเกิดจากการเกิดอุบัติเหตุที่มีแรงภายนอกมากระทบต่อศีรษะหรือเกิดก้อนเนื้อ ฝี ในสมองและทำให้สมองได้รับบาดเจ็บหรือถูกกดเบียด ซึ่งอาจทำให้เกิดเลือดออกในสมองหรือเกิดภาวะสมองบวมได้

อาการแสดงที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่น
- อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัว ขึ้นอยู่กับสมองส่วนใดได้รับการบาดเจ็บ
- การรับความรู้สึกที่ผิดปกติทั้งทางผิวหนัง ความรู้สึกของข้อต่อ และการรับความรู้สึก-ควบคุมระบบขับถ่าย
- การติดฝืดของข้อต่อ หรือการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่มากขึ้น จากการที่ไม่ได้ใช้งานหรือเคลื่อนไหว
- ความผิดปกติในการควบคุมอารมณ์ ในกรณีสมองส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับการบาดเจ็บ
- ความผิดปกติในการพูด หรือรับรู้ จากการบาดเจ็บของสมอง
- มีปัญหาในการกลืน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสำลัก
- มีปัญหาในการทรงตัว เนื่องจากอาการอ่อนแรงและการรับความรู้สึกที่ผิดปกติไป
- มีปัญหาเรื่องการมองเห็น ในกรณีที่สมองที่ควบคุมการมองเห็นได้รับบาดเจ็บ
- เกิดอาการปวดหรือเวียนศีรษะ ที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต เป็นต้น

ซึ่งการรักษาในผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดสมอง ในการฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อจะมีช่วงเวลานาทีทอง คือช่วง3-6 เดือนแรกหลังจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง จะทำให้การฟื้นตัวได้เร็วและชัดเจนกว่าเนื่องจากเป็นช่วงที่สมองกำลังฟื้นตัว
การรักษาทางกายภาพบำบัดต่อกลุ่มอาการ อัมพฤกษ์ อัมพาต
- การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา โดยการออกกำลังกายฝึกซ้ำๆจะช่วยให้สมองที่ได้รับบาดเจ็บเกิดการเรียนรู้ ฟื้นตัวกลับมา และมีกำลังกล้ามเนื้อที่มากขึ้น
- การรักษาเพื่อลดอาการปวด โดยใช้เครื่องมือหรือวิธีการลดปวดต่างๆ ในกลุ่มอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต มักมีการติดฝืดของข้อต่อ หรือการตึงตัวของกล้ามเนื้อที่มากขึ้น จากการที่ไม่ได้ใช้งานหรือเคลื่อนไหว ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อไหล่และข้อไหล่หลุดหลวมจากการที่กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่อ่อนแรง
- การป้องกันกล้ามเนื้อฝ่อลีบ เมื่อกล้ามเนื้อเนื้อไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เกิดการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการออกกำลังกายและใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ
- ฝึกการทำกิจวัตรประจำวันให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด ซึ่งจะประกอบไปด้วย การฝึกทรงตัว ฝึกการเคลื่อนไหว ฝึกเดิน ฝึกขึ้นลงบันไดหรือฝึกการเคลื่อนไหวต่างๆ


